มาตรการ “Easy e-Receipt” เป็นมาตรการในปี 2567 ที่กรมสรรพากรกำหนดให้ประชาชนสามารถนำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) จากการซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าที่สามารถออกเอกสารได้ตามกฎหมายกำหนดมาใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท โดย e-Tax ลดหย่อนภาษีที่จะสามารถนำมาใช้ได้นั้นจะต้องเกิดจากการซื้อสินค้าหรือบริการในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 เท่านั้น ไม่สามารถนำใบกำกับภาษีที่ได้รับในช่วงเวลาอื่นมาใช้ในโครงการได้โดยเด็ดขาด

ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt คืออะไร

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการใช้สิทธิ์ขอลดหย่อนประจำปี 2567 นอกจากจะเป็นช่วงเวลาในการซื้อสินค้าและบริการแล้ว สิ่งสำคัญอีกหนึ่งประการก็คือ e-Tax ลดหย่อนภาษีที่จะนำมาใช้ได้นั้นจะต้องออกเอกสารโดยผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนกับระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรด้วย 

ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt คือระบบที่อำนวยความสะดวกในการจัดทำเอกสารทางด้านภาษีให้กับผู้ประกอบการที่ลงทะเบียน โดยเอกสารดังกล่าวจะถูกออกในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน ใบเพิ่มหนี้ และใบลดหนี้ เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นมาโดยกรมสรรพากรโดยตรง ซึ่งวัตถุประสงค์ของการพัฒนานอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นแนวทางที่ดีในการส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เนื่องจากช่วยลดการใช้ทรัพยากรของโลกหลาย ๆ ส่วน เช่น ลดการใช้กระดาษ ลดการใช้หมึกพิมพ์ และลดการใช้ทุกอย่างที่อยู่ในกระบวนการการออกใบกำกับภาษีในรูปแบบกระดาษ 

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น เราไปดูกันดีกว่าว่า ประโยชน์ของการออกเอกสารผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt มีอะไรกันบ้าง

  1. แน่นอนว่าเมื่อเป็นเอกสารที่อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะสามารถลดการใช้เอกสารในรูปแบบกระดาษลงไปได้ตามที่กล่าวไว้
  2. เมื่อใช้กระดาษน้อยลง ก็ช่วยลดปัญหาการจัดการข้อมูลหรือเอกสารที่อยู่ในรูปของกระดาษได้ด้วย เช่น ปัญหาการชำรุดเสียหายของใบกำกับภาษีหรือใบเสร็จรับเงินที่อยู่ในรูปของกระดาษ
  3. ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดส่งเอกสาร เพราะสามารถจัดส่งเอกสารให้กับลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์รูปแบบใดก็ได้ตามที่ตกลงกัน
  4. ในโลกแห่งเทคโนโลยี การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งเริ่มไวยิ่งปรับตัวได้ไว และเป็นประโยชน์อย่างมากในอนาคต
  5. ข้อมูลที่อยู่ในรูปไฟล์อิเล็กทรอนิกส์สามารถนำไปใช้ต่อยอดในการประมวลผลในระบบสารสนเทศเพื่อประโยชน์ขององค์กรต่อไปได้ดีกว่าข้อมูลที่อยู่ในรูปกระดาษ
  6. เอกสารที่ออกด้วยระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt มีความน่าเชื่อถือและผลผูกพันทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ด้อยไปกว่าเอกสารในรูปแบบกระดาษ
e-Tax ลดหย่อนภาษี

ทราบหรือไม่ว่า ไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกเจ้าจะสามารถออก e-Tax ลดหย่อนภาษีได้

คำถามต่อมาที่ผู้ที่ต้องการใช้ e-Tax ลดหย่อนภาษีอาจจะสงสัยก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้ประกอบการเจ้าไหนบ้างที่สามารถออกเอกสาร e-Tax Invoice & e-Receipt เพื่อใช้ในโครงการ Easy e-Receipt ได้บ้าง ซึ่งบอกเลยว่ามีวิธีตรวจสอบได้หลากหลายวิธีและทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

  1. สอบถามจากผู้ประกอบการโดยตรง

วิธีการนี้เป็นวิธีการที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา หากต้องการซื้อสินค้าใดที่จะใช้ e-Tax ลดหย่อนภาษี ก็ให้สอบถามกับผู้ประกอบการที่ขายสินค้าและให้บริการกับเราตรง ๆ เลย หากผู้ประกอบการเจ้านั้น ๆ ลงทะเบียนในระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt อยู่แล้วก็จะเข้าใจโดยไม่ต้องอธิบายข้อมูลอะไรเพิ่มเติมให้เสียเวลา ส่วนใหญ่ก็จะออกเอกสารให้ทันทีโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น

  1. ตรวจสอบจากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร 

เว็บไซต์ของกรมสรรพากรมีข้อมูลรายชื่อผู้ประกอบการที่ออกเอกสารทางภาษีจากทั้ง 2 ระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt หรือระบบ e-Tax Invoice by Email โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลรายชื่อผู้ประกอบการได้จากหน้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากรโดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ข้อมูลรายชื่อผู้ประกอบการที่ใช้ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt สามารถตรวจสอบได้ที่ลิงก์เว็บไซต์

https://efiling.rd.go.th/rd-questionnaire-web/etax-invoice โดยการกรอกข้อมูลเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรหรือค้นหาได้จากชื่อสถานประกอบการ หรือชื่อผู้ประกอบการ

  • ข้อมูลรายชื่อผู้ประกอบการที่ใช้ระบบ e-Tax Invoice by Email สามารถตรวจสอบได้ที่ลิงก์เว็บไซต์

https://interapp3.rd.go.th/signed_inter/publish/register.php โดยการระบุข้อมูลเลขประจำตัวผู้เสียภาษี หรือข้อมูลผู้ประกอบการก็ได้

อย่างไรก็ตามเมื่อได้รับเอกสาร e-Tax ลดหย่อนภาษีมาแล้ว อย่าลืมตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเมื่อนำไปขอลดหย่อนภาษีระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2568 แล้วจะไม่เกิดปัญหาให้ต้องมานั่งปวดหัว หรือต้องแก้กันทีหลัง หากพบว่ามีข้อมูลที่ผิดพลาดก็สามารถขอให้ผู้ประกอบการออกเอกสารดังกล่าวให้ใหม่ได้จนกว่าจะมีความถูกต้อง